General Information United State of America

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความกว้างใหญ่ไพศาล โดยมีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 18 เท่า ทิศเหนือมีอณาเขตติดกับประเทศแคนาดา ทิศใต้ติดกับประเทศเม็กซิโกและอ่าวเม็กซิโก มีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 280 ล้านคน รัฐที่มีประชากรมากที่สุดคือรัฐแคลิฟอร์เนีย รองลงมาคือ รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาแบ่งการปกครองออกเป็นรัฐ โดยมีทั้งหมด 50 รัฐ กับ 1 เขตการปกครอง คือวอชิงตัน ดีซี และมี 2 รัฐที่ไม่มีอาณาเขตติดกัน คือรัฐฮาวาย กับรัฐอลาสก้า และอลาสก้าซึ่งถือเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในจำนวน 50 รัฐ รองลงมาคือ เท็กซัส ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ เฉพาะเท็กซัสรัฐเดียวก็ที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าฝรั่งเศสทั้งประเทศเสียอีก ส่วนอลาสก้านั้นใหญ่กว่าเท็กซัสถึง 2 เท่า

USA Map
 
เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศกว้างขวางมาก จึงทำให้ภูมิอากาศแตกต่างกัน ด้วย ดังนั้นรัฐต่างๆ เหล่านี้จึงถูกแบ่งเป็น 7 เขตดังนี้
  • Northwest State - Washington, Oregon, Idaho
  • Southwest State - California, Nevada, Utah, Arizona
  • North Central State - Montana, Wyoming, Colorado, North Dakota, South Dakota, Nebraska Kansas, Minnesota, Iowa, Missouri
  • South Central State - New Mexico, Oklahoma, Arkansas, Texas, Louisiana
  • Midwest State - Wisconsin, Illinois, Michigan, Indiana, Ohio, Kentucky
  • Northeast State - New Hampshire, Vermont, New York, Pennsylvania, West Virginia, Virginia, Maine, Massachusetts, Rhode Island, Connecticut, New Jersy, Delaware, Maryland, District of Columbia
  • Southeast State - Tennessee, North Carolina, South Carolina, Mississippi, Alabama, Georgia, Florida

ภูมิอากาศ

ลักษณะอากาศของแต่ละเขตแตกต่างกันออกไป เช่นในฤดูร้อน อากาศด้านตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณทะเลทรายอุณหภูมิเกือบเท่าเส้นศูนย์สูตร ส่วนฤดูหนาวในเขตทางตอนเหนือจะหนาวจัดจนหิมะตกหลายเดือน แถบที่อากาศอบอุ่นสบายไม่มีหิมะคือที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และอริโซน่า ส่วนในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้จะเปลี่ยนสีสันสวยงามมาก

ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - สิงหาคม
ฤดูใบไม้ร่วง ตั้งแต่เดือนกันยายน - พฤศจิกายน
ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์
ฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่เดือนมีนาคม - พฤษภาคม

หมายเหตุ : ในฤดูใบไม้ร่วงจะมีการปรับเวลาให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง โดยจะปรับในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม และในฤดูใบไม้ผลิจะปรับเวลาให้ช้าลง 1 ชั่วโมง โดยจะปรับในวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน

เวลา

ด้วยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างมาก จึงมีการแบ่งความแตกต่างของเวลาตามเส้นแบ่งของโลก เป็น 4 เขตเวลา (Time Zone) คือ
  • Eastern Time Zone (EST) จะมีเวลาช้ากว่าในประเทศไทย 12 ชั่วโมง
  • Central Time Zone (CST) จะมีเวลาช้ากว่าในประเทศไทย 13 ชั่วโมง
  • Mountain Time Zone (MST) จะมีเวลาช้ากว่าในประเทศไทย 14 ชั่วโมง
  • Pacific Time Zone (PST) จะมีเวลาช้ากว่าในประเทศไทย 15 ชั่วโมง
ในแต่ละ Time Zone จะมีเวลาแตกต่างกัน 1 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น เวลาใน Eastern เป็นเวลาบ่าย 4 โมงเย็น เวลาในเขต Central จะเป็นบ่าย 3 โมงเย็น ในเขต Mountain เป็นเวลาบ่าย 2 โมง และเวลาในเขต Pacific จะเป็นเวลาบ่ายโมงตรง

การขอวีซ่านักเรียน

เอกสารประกอบการยื่นขอวีซ่านักเรียนมีดังนี้
  1. แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่า ที่กรอกข้อมูลโดยครบถ้วน
  2. หนังสือเดินทางที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน (ควรนำหนังสือเดินทางทุกเล่มที่มีอยู่ ซึ่งหมดอายุไปแล้วหรือยังใช้ได้อยู่มายื่นด้วย เพื่อประกอบในการพิจารณาวีซ่าของท่าน)
  3. รูปถ่ายจำนวน 1 รูป (เป็นภาพสีหรือขาวดำ) โดยฉากหลังของรูปต้องเป็น สีขาว เท่านั้น ขนาด 50*50 มม. (หรือ 2*2 นิ้ว) เป็นรูปถ่ายหน้าตรงเห็นหูทั้ง 2 ข้าง ใบหน้าต้องมีขนาดใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่รูปถ่ายและต้องเป็นรูปที่ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน
  4. แบบฟอร์ม ไอ-20 (ออกให้โดยทางโรงเรียนในสหรัฐฯ) กรุณาเซ็นต์ชื่อ และวันที่ ซึ่งอยู่ด้านล่างของแบบฟอร์ม ไอ-20
  5. หลักฐานการศึกษาที่ผ่านมาครั้งล่าสุด (Transcript) ตัวจริง สำหรับผู้ยื่นขอวีซ่านักเรียนที่ไม่ได้ขอวีซ่าทันทีในปีที่จบการศึกษา ควรยื่นหลักฐานการทำงานประกอบด้วย
  6. เอกสารทางการเงินตัวจริงที่ครบถ้วยสมบูรณ์ เพื่อแสดงว่ามีเงินทุนจำนวนเหมาะสมที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างที่อยู่ในสหรัฐฯ โดยอาจยื่นแสดงบัญชีเงินฝากประจำ บัญชีกระแสรายวัน บัญชีออมทรัพย์ และ/หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่เป็นของผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
  7. หลักฐานถิ่นที่อยู่ของท่านภายนอกสหรัฐฯ ผู้ยื่นคำร้องจะทำได้โดยการแสดงหลักฐานความผูกพันทางครอบครัว เศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่มีอยู่ภายนอกประเทศสหรัฐฯ
  8. เอกสารอื่นๆ (อาจขอเป็นบางกรณี)
หมายเหตุ : ผู้ขอวีซ่าควรมายื่นขอวีซ่าอย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง

ขั้นตอนการยื่นคำร้อง

  1. ชำระค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ ท่านต้องชำระค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเป็นเงินจำนวน 100 เหรียญสหรัฐฯ (หรือเทียบเท่าค่าเงินบาทไทยปัจจุบัน) ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ยกเว้นไปรษณีย์สาขาย่อย) จะไม่มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าท่านจะได้ชำระค่าธรรมเนียมนี้แล้ว
  2. ในวันที่ท่านยื่นขอวีซ่าท่านต้องแสดงใบเสร็จที่ได้รับจากที่ทำการไปรษณีย์พร้อมกับใบคำร้อง ท่านต้องแน่ใจว่าท่านได้รับใบเสร็จจากที่ทำการไปรษณีย์และจะไม่มีการคืนค่าธรรมเนียมนี้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

  3. กรอกใบคำร้อง (ดีเอส-156 ดีเอส-157 และดีเอส-158) ใบคำร้องขอได้ที่แผนกกงสุลหรือใช้แบบฟอร์มจากอินเทอร์เน็ตโหลดได้ที่นี่โปรดตอบคำถามทุกข้อให้สมบูรณ์ หากท่านไม่ตอบคำถามทั้งหมดในคำร้องนี้จะไม่มีการรับคำร้องของท่าน ผู้ยื่นคำร้องที่เป็นคนไทยควรเขียนชื่อตนเป็นภาษาไทยในข้อ 3 พร้อมชื่อสกุลก่อนสมรส ชื่อทางศาสนา ชื่อทางอาชีพ หรือชื่ออื่นใดที่ท่านได้เคยใช้มา
    หากผู้อื่นทำการกรอกใบคำร้องแทนท่าน บุคคลนั้นต้องเขียนชื่อตัวพิมพ์และลงลายมือชื่อของตนเองด้านล่างใต้ข้อ 35 ท่านจะต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของข้อมูลที่บุคคลผู้นั้นได้กรอกในใบคำร้องแทนท่าน
  4. หมายเหตุ : การเช็นต์ชื่อในใบคำร้องขอวีซ่านี้ ถือว่าท่านได้รับรองข้อความทั้งหมดที่กรอกไว้ว่าถูกต้องและเป็นความจริง หากท่านบิดเบือนข้อเท็จจริงประการใดก็ตาม ท่านอาจจะถูกระงับมิให้เดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ เป็นการถาวร กรุณาตรวจทานคำตอบทุกข้อให้แน่ใจว่าถูกต้องทุกประการและโปรดสอบถามเจ้าหน้าที่ หากท่านไม่เข้าใจคำถามใดๆ ในใบคำร้อง

  5. ไปยังหน้าต่างตรวจรับเอกสาร หมายเลข 1 หรือหมายเลข 2 ผู้สมัครขอวีซ่าต้องยื่นใบเสร็จที่ได้รับจากที่ทำการไปรษณีย์ ใบคำร้องขอวีซ่าที่กรอกเป็นภาษาอังกฤษทุกข้อแล้ว หนังสือเดินทาง รูปถ่ายและหลักฐานต่างๆ หลังจากยื่นใบคำร้องและเอกสารต่างๆ แล้ว ผู้สมัครขอวีซ่าจะได้รับบัตรนัดให้กลับมาฟังผลในตอนบ่ายของวันทำการถัดไป บางรายอาจได้รับวีซ่าโดยไม่มีการสัมภาษณ์ ในกรณีที่มีการนัดสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่จะให้ใบนัด ซึ่งระบุวันและเวลาที่จะต้องเข้ามารับการสัมภาษณ์
เวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ 7.00 น. - 9.00 น.
ที่ตั้ง แผนกกงสุล สถานฑูตอเมริกา 95 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 205 – 4000 โทรสาร 205 – 4131

ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประมาณการค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยตามระดับต่างๆ ดังนี้

ระดับการศึกษา ค่าใช้จ่ายต่อปี (USD)
ภาษาอังกฤษ
มัธยมศึกษา
ประกาศนียบัตร / อนุปริญญาตรี
ปริญญาตรี
ปริญญาโท
ปริญญาเอก
14,000
17,500
8,000
9,600 – 12,000
10,400 – 24,000
16,000
 
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ (1 USD = 35 ฿)

ที่พักอาศัย

ที่พักสำหรับนักเรียนต่างชาติมีหลายประเภท ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมและตามต้องการดังนี้

1. Dormitory หรือ Residence Hall หรือ Residential College

หอพักในมหาวิทยาลัย มีเครื่องใช้ที่จำเป็น มักจะแบ่งเป็นหอชายล้วน/หญิงล้วน มีห้องอาหาร บางหอมีห้องครัว ในหอมีห้องนั่งเล่นรวม ห้องซัก/รีดผ้า ห้องน้ำรวมแต่แยกชาย - หญิง
ราคา 900 - 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งภาคการศึกษา (ประมาณ 4 - 16 สัปดาห์)
ข้อดี มีโอกาสได้พบปะกับนักศึกษาทั้งชาวอเมริกันและต่างชาติ ไม่ต้องเสียเวลาทำอาหาร อยู่ใกล้สถานที่เรียนใช้เครื่องอำนวยความสะดวกโดยไม่ต้องออกไปนอกมหาวิทยาลัย
ข้อเสีย มีขนาดเล็ก ไม่มีความเป็นส่วนตัว ต้องใช้ห้องน้ำและห้องครัวรวม ส่วนใหญ่ปิดในช่วงปิดภาคเรียน

2. Theme House หรือ Theme Collage หรือ Theme Ares หรือ Substance-free Housing

เป็นหอพักสำหรับนักศึกษา Honours หรือผู้ที่เรียนด้านศิลปะ หรือผู้ที่ชอบทำกิจกรรมประเภทบริการสังคม มีอุปกรณ์เหมือนกับ Dormitory
ราคา/ข้อดี/ข้อเสีย คล้ายคลึงกับการพักในหอพักมหาวิทยาลัย

3. Renting an Apartment

สามารถนำครอบครัวไปอยู่ด้วยได้ ทำอาหารเองได้ หากอยู่นอกมหาวิทยาลัยเป็นของเอกชนต้องรับผิดชอบค่าโทรศัพท์ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ต้องทำสัญญาเช่าอย่างน้อยหนึ่งปีการศึกษา
ราคา 300 - 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ข้อดี มีอิสระ ค่าใช้จ่ายถูกกว่าเพราะมีผู้ร่วมพักหลายคน ทำอาหารเองได้ บางแห่งมีคนทำความสะอาดให้
ข้อเสีย ต้องทำสัญญาเช่าระยะยาว เสียเวลาเดินทางไปเรียน ต้องทำอาหารเอง

4. Rooming House หรือ Residence Club หรือ Sharing a House

อาจพักในบ้านร่วมกับเจ้าของบ้าน โดยใช้อุปกรณ์ในบ้านได้บ้าง แต่ละคนมีห้องพักของตนเอง ให้ใช้ห้องครัวหรือห้องน้ำร่วมกัน
ราคา 500 - 2,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ข้อดี มีสภาพเรียบง่าย เป็นมิตร ไม่มีพิธีรีตองมาก เป็นอิสระ มักอยู่ไม่ไกล
ข้อเสีย คล้ายกับการเลือกพักในอพาร์ทเมนท์

5. Homestay

ผู้เข้าพักจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว มักเป็นห้องเดี่ยวพร้อมอาหาร สถานศึกษาจะเลือกครอบครัวที่มีลักษณะใกล้เคียงกับความต้องการให้
ราคา 550 - 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ข้อดี ได้เรียนรู้วิถีชีวิตแบบชาวอเมริกัน และได้พัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ
ข้อเสีย ใช้เวลาในการเดินทาง ต้องรีบกลับบ้านหลังเลิกเรียน อาจไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบของครอบครัว

6. Tempory House

เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่มีที่พักในมหาวิทยาลัย อาจเป็น Tempory House ของมหาวิทยาลัยที่เป็นโรงแรมหรือหอพัก และหอพักประเภท Youth Hostel ผู้พักจะต้องมีบัตรสมาชิก ต้องจองโดยจ่ายเงินล่วงหน้า 1 คืน
ราคา 10 - 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อคืนต่อคน

7. Boarding*

หอพักระดับมัธยมศึกษา มักจะแบ่งออกเป็นหอพักเล็กๆ หรือเป็นบ้านหลายๆ หลัง แต่ละหลังจะมีนักเรียนหลายระดับชั้น แยกหญิง-ชาย มีผู้ดูแลเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน 1 คน นักเรียนจะต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบนับตั้งแต่ เวลาตื่นนอน จนถึงเข้านอน
ราคา 18,000 - 40,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งปีการศึกษา (รวมค่าเล่าเรียนด้วย)
ข้อดี ฝึกความมีระเบียบวินัย ความอดทน เรียนรู้การดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ปลอดภัยเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เร็ว
ข้อเสีย ไม่ได้รับความอบอุ่นนัก ขาดความมีอิสระในการทำตามความพอใจ

ระบบการศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา

ระบบการศึกษาสหรัฐอเมริกา
 

ระบบการศึกษาทั่วไป

ระบบการศึกษาของอเมริกาแต่ละรัฐ จะมีรูปแบบการควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนและวางแผนการศึกษาของตนเองไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง ทุกรัฐจะมีหน่วยงานการศึกษาคล้ายกระทรวงศึกษาธิการ คอยกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในแต่ละรัฐการศึกษาภาคบังคับ นักเรียนอเมริกันทุกคนจะเรียนฟรีไม่ว่าจะอยู่ในรัฐใดจบจบชั้นมัธยนศึกษา หรือ Grade 12

สำหรับนักเรียนจากประเทศไทยที่ต้องการเรียนในระดับประถม และมัธยมศึกษาที่อเมริกา จะสมัครเข้าเรียนได้ในโรงเรียนเอกชนเท่านั้น เพราะสหรัฐอเมริกาจะไม่ออกวีซ่าให้นักเรียนไทยที่ได้ I-20 จากโรงเรียนระดับประถม และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนของรัฐที่เรียกว่า Public School ส่วนการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะมีข้อแตกต่างคือ ถ้านักเรียนที่มีถิ่นฐานในรัฐหนึ่ง จะข้ามมาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอีกรัฐหนึ่ง จะต้องเสียค่าเล่าเรียนแพงขึ้น ซึ่งเรียกว่า Out of States Tuition และถ้านักศึกษามาจากประเทศอื่นจะต้องเสียค่าเล่าเรียนแพงขึ้นไปอีก

โรงเรียนอนุบาล (Kindergarten)

ชีวิตการเรียนของเด็กอเมริกัน เริ่มต้นด้วยโรงเรียนเตรียมอนุบาล หรือโรงเรียนอนุบาล ตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบ

โรงเรียนประถมศึกษา (Elementary Schools)

เด็กอเมริกันจะเริ่มเรียนอย่างจริงจังเมื่ออายุ 6 ขวบ คือเข้าเรียนในชั้น Grade 1 เทียบเท่ากับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในบ้านเรา ระบบการศึกษาของประเทศอเมริกาจะจัดแบ่งออกเป็น Grade 1 ถึง Grade 12 ซึ่งโดยหลักการแล้ว จะจัดแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือช่วงที่ 1 คือ Grade 1 ถึง Grade 6 หรือระดับประถมศึกษา (Elementary School)

โรงเรียนมัธยมศึกษา (Junior High School / High School)

ช่วงที่ 2 คือ Grade 7 และ Grade 8 หรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Junior High School) และช่วงที่ 3 คือ Grade 9 ถึง Grade 12 เป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Senior High School) โดยทั่วไปสำหรับเด็กที่เริ่มเข้าเรียนตามปกติและเรียนต่อเนื่องไปโดยไม่ขาดตอน จะสำเร็จการศึกษา Grade 12 เมื่ออายุประมาณ 18 ปี ซึ่งนับว่าสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนในระดับนี้ต้องเรียนวิชาพื้นฐานคือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาและอาจต้องเรียนภาษาต่างชาติหรือพลศึกษาด้วย นักศึกษาต่างชาติที่เข้าไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาในประเทศอเมริกามีจำนวนไม่มากนักและส่วนใหญ่จะเข้าเรียนกับโรงเรียนประจำของเอกชน หรือ Boarding School เนื่องจากโรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดหาหอพักให้ได้ โดยทั่วไปนักเรียนไทยส่วนใหญ่ที่ไปเรียนต่อในระดับนี้มักสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วและไปเข้าเรียนต่อ Grade 10 ในประเทศอเมริกา

ระดับอุดมศึกษา (Higher Education)

สถาบันระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกามีมากมายกว่า 3,000 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน โดยสถาบันในระดับอุดมศึกษา จะแยกออกเป็น 4 ประเภทดังนี้

1. วิทยาลัยแบบ 2 ปี หรือวิทยาลัยชุมชน (Junior Colleges และ Community Colleges) นักเรียนที่เรียนในวิทยาลัย Junior และ Community Colleges สามารถเลือกเรียนได้ใน 2 หลักสูตรคือ

1.1 Transfer Track เป็นหลักสูตรที่เป็นวิชาพื้นฐาน 2 ปีแรกของการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยนักศึกษาจะลงเรียนวิชาบังคับ (General Education Requirements) เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นนักศึกษาสามารถโอนหน่วยกิต (Transfer) ไปมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อศึกษาต่อในระดับปี 3 โดยที่เกรดเฉลี่ยที่นักศึกษาทำได้ในระหว่าง 2 ปีนี้จะเป็นตัวกำหนดว่านักศึกษาจะได้รับการตอบรับเข้ามหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับยากง่ายเพียงใด

1.2 Terminal / Vocation Track เป็นหลักสูตรอนุปริญญาสายวิชาชีพ หลังจาก 2 ปี แล้วนักศึกษาจะได้รับวุฒิอนุปริญญา (Associate Degree) ทางสาขาวิชาที่เลือก อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ เลขานุการ เขียนแบบ เป็นต้น

2. วิทยาลัย (Colleges) เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาหลักสูตร 4 ปี เปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ วิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนถึงระดับปริญญาโท วุฒิบัตรระดับปริญญาตรีและโทจาก College ทั้งของรัฐและเอกชนในสหรัฐฯ มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่า University ทุกประการ

3. มหาวิทยาลัย (University) เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีขึ้นไป มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาโทและเอกในสาขาต่างๆ

4. สถาบันเทคโนโลยี (Institution of Technology) เป็นสถาบันที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และอาจเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาโทและเอก สถาบันเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การสอนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เงื่อนไขการรับเข้าศึกษา

  • มัธยมศึกษา นักเรียนจากประเทศไทยสามารถศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนของเอกชนเท่านั้น ไม่สามารถเข้าเรียนในสถาบันของรัฐบาลได้ เงื่อนไขอื่นๆ เช่น เกรดเฉลี่ย และคะแนน TOEFL แตกต่างออกไปตามสถาบัน
  • วิทยาลัย วิทยาลัยส่วนใหญ่ต้องการนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.0 ขึ้นไป และคะแนน TOEFL 480-500 ขึ้นไป
  • มหาวิทยาลัยสำหรับปริญญาตรี สถาบันส่วนใหญ่ต้องการนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไปและ TOEFL 500 ขึ้นไป
  • มหาวิทยาลัยสำหรับปริญญาโทและเอกเกรดเฉลี่ย 3.0 ขึ้นไปและ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 550 นักศึกษาที่จะสมัครในโปรแกรม MBA ส่วนใหญ่จะต้องใช้คะแนน GMAT ซึ่งจะนำมาคำนวณกับเกรดเฉลี่ยปริญญาตรี ส่วนนักศึกษาที่สมัครปริญญาโทและเอกในสาขาอื่นๆ ส่วนใหญ่จะต้องสอบ GRE

ปีการศึกษา

ปีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา (Academic Year) จะเริ่มประมาณเดือนกันยายนถึงพฤษภาคม ซึ่งมีกำหนดเภาครียน แตกต่างกันออกไปดังนี้

ระบบ Semester เป็นระบบที่นิยมใช้มากที่สุด ในระยะเวลาหนึ่งปีจะประกอบด้วย 2 Semesters และ 1-2 Summer Sessions แต่ละ Semester ยาวประมาณ 16 สัปดาห์ ดังนี้
  • Fall Semester ประมาณปลายสิงหาคม - กลางธันวาคม
  • Spring Semester ประมาณต้นมกราคม - เมษายน
  • Summer Session ประมาณกลางพฤษภาคม - สิงหาคม
ระบบ Quarter ในหนึ่งปีแบ่งออกเป็น 4 Quarter แต่ละ Quarter ใช้เวลาเรียนประมาณ 10 สัปดาห์ดังนี้
  • Fall Quarter ประมาณกลางกันยายน - ธันวาคม
  • Winter Quarter ประมาณมกราคม - กลางมีนาคม
  • Spring Quarter ประมาณต้นเมษายน - กลางมิถุนายน
  • Summer Quarter ประมาณกลางมิถุนายน - สิงหาคม
ระบบ Trimester ใน 1 ปี แบ่งภาคการศึกษาดังนี้
  • First Semester ประมาณกันยายน - ธันวาคม
  • Second Semester ประมาณมกราคม - เมษายน
  • Third Semester ประมาณพฤษภาคม - สิงหาคม
ระบบ 4-1-4 เป็นระบบใหม่ที่ใช้ในสถานศึกษาราว 8% ในสหรัฐอเมริกาแบ่งปีการศึกษาออกเป็น 2 ภาคใหญ่ คั่นด้วยภาคเรียนสั้นๆ ที่เรียกว่า Interim เพื่อให้นักศึกษาไปทำการค้นคว้าด้วยตนเองหรือออก Field Trip แบ่งภาคเรียนดังนี้
  • Fall Semester ประมาณปลายสิงหาคม - ธันวาคม
  • Interim ประมาณเดือนมกราคม (1 เดือน)
  • Spring Semester ประมาณกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม

การสมัครสถานศึกษา

นักศึกษาที่ต้องการไปศึกษาต่อสหรัฐอเมริกา ควรเตรียมตัวล่วงหน้าประมาณ 1 ปี เนื่องจากากรติดต่อสถานศึกษา การสอบต่างๆ การส่งเอกสาร และการพิจารณาใบสมัครต้องใช้เวลามาก การติดต่อสถานศึกษานั้น ผู้สมัครสามารถดำเนินการได้เอง โดยขอใบสมัครไปที Office of Admission ของมหาวิทยาลัย พร้อมระบุว่าต้องการสมัครสาขาใด ถ้าเป็นการสมัครระดับปริญญาโท หรือเอกต้องเขียนขอใบสมัครไปที่ Graduate School Admission Office หรือ Chairman ของคณะหรือแผนกที่ต้องการเรียนหรือนักศึกษาสามารถสมัครผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตโดยต้องกรอกข้อความให้ครบถ้วน และดำเนินการทุกขั้นตอนตามที่สถานศึกษากำหนด ใบสมัครจะไม่ได้รับการพิจารณาหากทางสถาบันไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมการสมัคร

หลังจากที่ส่งจดหมายหรือแบบฟอร์มขอใบสมัครไปยังสถานศึกษาประมาณ 3-6 สัปดาห์ นักศึกษาควรจะได้รับการติดต่อกลับมาจากสถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งรายละเอียด และใบสมัครหรือใบสมัครขั้นต้น (Preliminary Form) มาให้ผู้สมัครต้องอ่านรายละเอียดที่ส่งมา และปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัดและรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องการส่งเอกสารที่สถานศึกษาต้องการให้ถึงสถานศึกษาก่อนวันปิดรับสมัครหรือนักศึกษาอาจติดต่อตัวแทนสถาบันแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการสมัคร

เอกสารที่ใช้ในการสมัครสถานศึกษา

  1. แบบฟอร์มใบสมัครที่กรอกเรียนร้อยแล้ว
  2. ค่าธรรมเนียมการสมัคร (Application Fee) แล้วแต่สถานศึกษากำหนด ซึ่งค่าสมัครนี้จะไม่มีการคืน ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับนักศึกษาก็ตาม
  3. ใบแสดงผลการเรียน (Transcript) ฉบับจริง
  4. ผลสอบ TOEFL, GRE หรือ GMAT สำหรับผู้สมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอก ตามที่สถานศึกษานั้นๆ ต้องการ ผลสอบเหล่านี้ต้องขอให้ศูนย์สอบ เช่น Education Testing Service (ETS) ส่งผลไปยังสถานศึกษาโดยตรง (รายงานผลสอบที่ส่งจากศูนย์สอบไปยังสถานศึกษานี้ เรียกว่า Official Score Report)
  5. จดหมายรับรองฐานะการเงิน (Financial Statement) ของผู้ปกครอง จากสถาบันการเงินที่ผู้ปกครองเป็นลูกค้าอยู่ ในกรณีที่เป็นนักเรียนทุนควรมีจดหมายรับรองการรับทุนแนบไปด้วย
  6. จดหมายรับรอง (Letter of Recommendation) 2-3 ฉบับ จากอาจารย์ผู้สอนหรือผู้บังคับบัญชา
  7. เรียงความประวัติส่วนตัวและจุดประสงค์ในการศึกษาต่อ หรืออาจจะเป็นหัวข้ออื่นๆ แล้วแต่สถานศึกษาจะกำหนด ประมาณ 300-500 คำ

เอกสารเหล่านี้ต้องส่งทางไปรษณีย์อากาศให้ถึงสถานศึกษาก่อนวันปิดรับสมัคร สถานศึกษาจะพิจารณาจากหลักฐานที่ส่งไปหากพอใจก็จะส่งจดหมายตอบรับเข้าเรียน หลายแห่งจะให้นักศึกษาตอบยืนยันการตัดสินใจอีกครั้งว่าจะไปเรียน ณ สถานศึกษาที่ตอบรับมานี้แน่นอนแล้ว จึงจะส่งใบตอบรับอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า I-20 Form มาให้เพื่อให้นักศึกษานำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอวีซ่านักเรียน สถานศึกษาหลายแห่งอาจแนบรายละเอียดการลงทะเบียนเรียนมาด้วย

 



Education Abroad Co., Ltd.
KU Mini Shop (บริเวณโรงอาหารกลาง 1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ (081) 836-4042 (02) 940-6961 แฟกซ์ (02) 940-6961 E-mail : info@e-abroad.com