IELTS - International English Language Testing System

IELTS คือชื่อย่อของการทดสอบภาษาอังกฤษระดับนานาชาติ International English Language Testing System ได้รับการออกแบบเพื่อใช้ประเมินความสามารถด้านภาษาของผู้สมัครสอบที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แต่มีความประสงค์ที่จะใช้ภาษาอังกฤษในการศึกษาต่อหรือทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การสอบ IELTS ใช้ประเมินความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้สมัคสอบทั้ง 4 ทักษะ การฟัง การอ่าน การเขียน และ การพูด รวมถึงความรู้ทางด้านไวยากรณ์และคำศัพท์ในการใช้ภาษา โดยแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ช่วงคือ

  • ช่วงเช้า สอบข้อเขียน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ทดสอบการฟัง 30 นาที การอ่าน 60 นาทีและการเขียน 60 นาที
  • ช่วงบ่าย สอบสัมภาษณ์รายบุคคลกับอาจารย์ชาวต่างประเทศ ใช้เวลาคนละประมาณ 10-15 นาที

ประเภทของข้อสอบ IELTS

1. หมวดการสอบเชิงวิชาการ (Academic Module) สำหรับผู้สมัครสอบที่มีความประสงค์จะไปศึกษาต่อ จะประเมินความรู้ ความสามารถของผสมัครู้สอบในใช้การภาษาเชิงวิชาการเพื่อการศึกษา เช่น การเจรจาโต้ตอบที่ซับซ้อน การอภิปรายเกี่ยวกับแนวความคิดนามธรรม และ การจัดการข้อมูลต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ
2. หมวดการสอบเชิงการฝึกอบรมทั่วไป (General Training Module) จะประเมินความสามารถทางภาษาของผู้สมัครสอบอย่างกว้างๆ โดยการสอบในหมวดนี้จะเหมาะกับ ผู้สมัครที่จะนำผลสอบไปใช้เพื่อการฝึกงาน เพื่อการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา หรือเพื่อการประกอบอาชีพในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร

ลักษณะข้อสอบการฟัง พูด อ่าน เขียน

การฟัง

การสอบฟังนั้นใช้เวลา 30 นาที โดยมีคำถามทั้งหมด 40 ข้อ และมีด้วยกัน 4 ส่วน สองส่วนแรกนั้นจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันจะเป็นการสนทนาระหว่างคนสองคน หลังจากนั้นก็จะเป็นคนพูดเพียงคนเดียว ตัวอย่างเช่น สนทนาเรื่องการวางแผนไปเที่ยว หรือตัดสินใจว่าจะไปไหนดีคืนนี้ และมีการพูดเกี่ยวกับการให้บริการแก่นักเรียนในมหาวิทยาลัย สองส่วนหลังจะฟังเกี่ยวกับสถานการณ์จำลอง โดยจะมีเนื้อหาหนักไปทางการศึกษา โดยจะมีบทสนทนากันระหว่างกลุ่มคนไม่เกินสี่คน หลังจากนั้นก็จะเป็น การฟังคนพูดเพียงคนเดียว ตัวอย่างหัวข้อที่จะพูด อาจเป็นการสนทนาระหว่างอาจารย์และนักเรียนเกี่ยวกับการบ้าน หรืออาจจะเป็นการคุยกันในกลุ่มนักเรียนสองสามคนปรึกษากันเรื่องหัวข้อทำวิจัย และเลคเชอร์ หรือการพูดแนววิชาการ

ในการสอบไม่มีผู้สอบคนใดได้เปรียบเสียเปรียบ ทั้งนี้เพราะว่าหัวข้อที่นำมาใช้ในการสอบนั้นจะเป็นหัวข้อทั่วไป ไม่เน้นไปในวิชาใดวิชาหนึ่ง ความยากจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยในแต่ละส่วน สำเนียงภาษาอังกฤษที่ใช้ในการสอบนั้นจะมีหลากหลายด้วยกัน รวมทั้งสำเนียงท้องถิ่น

คำถามนั้นจะมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
  • ปรนัย
  • ตอบคำถามสั้นๆ
  • เติมคำในประโยค
  • ให้โน๊ตย่อหรือวาดไดอะแกรม flow chart หรือเติมคำในตารางให้สมบูรณ์
  • ให้เขียนในไดอะแกรมว่าแต่ละส่วนที่มีเลขเขียนไว้หมายถึงอะไร
  • จับคู่
  • เรียงลำดับ

การสอบฟังนั้น จะมีการเปิดให้ฟังเพียงรอบเดียวเท่านั้น ขณะที่ฟังผู้เข้าสอบต้องอ่านคำถามและเติมคำตอบในกระดาษคำถามไปพร้อมๆ กัน เมื่อฟังเทปเสร็จเรียบร้อย จะมีเวลาให้นำย้ายคำตอบจากในกระดาษมาเขียนลงในกระดาษคำตอบ

การอ่าน สำหรับ Academic Reading

มีคำถามทั้งสิ้น 40 คำถาม ให้ทำในเวลา 60 นาที โดยจะมีเรื่องสั้นๆ ให้อ่านสามเรื่องด้วยกัน ความยาวโดยรวมประมาณ 2,000 - 2,750 คำ เนื้อหานั้นจะมาจาก นิตยสารวารสาร หนังสือ และหนังสือพิมพ์ และมีเนื้อหาเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป ในจำนวนนี้ จะมีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการแสดงความเห็น และอาจจะมีไดอะแกรม กราฟ หรือ ภาพประกอบเรื่องนั้นๆ ถ้าหากเรื่องไหนมีศัพท์เทคนิคปะปนอยู่ก็จะมีคำอธิบายไว้ให้ข้อสอบจะเพิ่มความยากขึ้นเรื่อยๆ คำถามบางคำถามอาจจะถามก่อนอ่านเนื้อเรื่องบางคำถามก็ถามหลังเนื้อเรื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของคำถามนั้นๆ

ลักษณะคำถาม
  • ปรนัย
  • ตอบคำถามสั้นๆ
  • เติมคำในประโยค
  • ให้โน๊ตย่อหรือวาดไดอะแกรม flow chart หรือเติมคำในตารางให้สมบูรณ์
  • ให้เขียนในไดอะแกรมว่าแต่ละส่วนที่มีเลขเขียนไว้หมายถึงอะไร
  • จับคู่
  • เรียงลำดับ
  • ลักษณะคำถามที่มีคำตอบ ไว้จำนวนมาก ให้เลือก คำตอบที่ให้ไว้ มาเติมในช่องที่เหมาะสม
  • ให้หาว่าผู้เขียนต้องการจะสื่ออะไรให้ผู้อ่าน โดยตอบ yes / no /not given
  • ให้หาว่าเนื้อเรื่องได้กล่าวเรื่องในคำถามไว้หรือไม่ โดยให้ตอบ yes/ no/ not given/ true /false/ not given

คำถามข้อละหนึ่งคะแนนและผู้สอบควรตรวจสอบให้รอบคอบในการเขียนคำตอบลงในกระดาษคำตอบว่าสะกดได้ถูกหรือไม่และถูกหลักไวยากรณ์หรือไม่ เพราะหากไม่ถูกจะมีการหักคะแนน

การอ่านสำหรับ General Training

เนื้อหาขึ้นอยู่กับรูปแบบของข้อสอบ ซึ่งคาดว่าผู้สมัครสอบจะพบในชีวิตประจำวันในต่างประเทศ เนื้อหาเหล่านี้จะนำมาจากหนังสือพิมพ์ โฆษณา คู่มือการสอนและหนังสือต่างๆ โดยจะทดสอบความสามารถในการทำความเข้าใจ และการใช้ข้อมูลของผู้สมัครสอบ ข้อสอบจะประกอบไปด้วยข้อความยาว ๆ 1 ข้อความซึ่งเนื้อหาจะเป็นในทางอรรถาธิบายมากกว่าเชิงอภิปราย

การเขียน Academic Writing

มีสองหัวข้อที่ต้องทำและมีเวลาในการเขียนทั้งสิ้น 60 นาที ควรใช้เวลาในส่วนแรกประมาณ 20 นาที และเขียนอย่างน้อย150 คำ ส่วนที่สองนั้นควรใช้เวลาประมาณ 40 นาที และเขียนอย่างน้อย 250 คำ

ในส่วนแรกนั้น ผู้เข้าสอบจะต้องเขียนอธิบายเกี่ยวกับไดอะแกรมหรือตารางที่มีไว้ให้การทดสอบส่วนนี้ เพื่อที่จะวัดความสามารถในการจัดข้อมูล และการเปรียบเทียบข้อมูลและความสามารถในการอธิบายขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการจัดลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง และอธิบายการทำงานของสิ่งต่างๆ

ในส่วนที่สองนั้น จะเป็นการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆที่กำหนดให้ ทั้งนี้เพื่อวัดความสามารถในการแก้ปัญหา และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างสมเหตุสมผล สามารถเปรียบเทียบและชี้ข้อแตกต่างของเหตุการณ์ ความเห็น หัวข้อที่นำมาให้เขียนนั้นง่ายต่อการเข้าใจ ทั้งสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือ กำลังจะเรียนต่อในระดับสูงกว่า

ในส่วนของ General Training Writing นั้น จะมีแตกต่างก็คือในส่วนแรกจะได้คำถามที่มีลักษณะเป็นจดหมายที่เขียนขอข้อมูล หรืออธิบายสถานการณ์และให้เราเขียนตอบ ทั้งนี้เพื่อวัดความสามารถในการสื่อสารโต้ตอบระหว่างบุคคลและแสดงความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบ ความต้องการและแสดงความคิดเห็นได้

ในส่วนที่สองนั้นผู้สอบต้องแสดงทัศนะหรือไม่ก็ให้อภิปรายโต้แย้งหรือแสดงปัญหาในหัวข้อที่ให้ไว้ ทั้งนี้เพื่อวัดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล การวางโครงร่างของปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา เสนอและชั่งน้ำหนักของความคิดเห็น บทความ หรือ ทฤษฎีต่างๆ ว่าน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน

ในการเขียนทั้งสองแบบต้องเขียนตอบในกระดาษคำตอบเท่านั้นหากเขียนในกระดาษคำถามจะได้รับการตรวจ การให้คะแนนก็จะให้น้ำหนักของส่วนที่สองมากกว่าส่วนที่หนึ่ง

การให้คะแนนส่วนที่หนึ่งนั้นจะให้จาก
  • Task Fulfillment
  • Coherence
  • Cohesion
  • Vocabulary
  • Sentence Structure
การให้คะแนนส่วนที่สองนั้นจะให้จาก
  • Arguments
  • Ideas
  • Evidence
  • Communicative Quality
  • Vocabulary
  • Sentence Structure
หากเขียนต่ำกว่าจำนวนน้อยที่สุดที่กำหนดไว้จะถูกหักคะแนน

การพูด

การสอบพูดนั้นจะใช้เวลาตั้งแต่ 11-14 นาที จะเป็นการสัมภาษณ์ระหว่างผู้เข้าสอบและเจ้าหน้าที่ เป็นการทดสอบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร การสอบสัมภาษณ์นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนที่หนึ่ง ผู้เข้าสอบจะตอบคำถามทั่วไปเกี่ยวกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง บ้าน ครอบครัว การงาน การเรียน ความสนใจ ซึ่งจะเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 นาที

ส่วนที่สอง ผู้เข้าสอบจะต้องพูดตามหัวข้อที่ได้รับในการ์ด โดยจะมีเวลาเตรียมตัว 1 นาทีและพูดประมาณ 2 นาที จากนั้นเจ้าหน้าที่จะถามคำถามหนึ่งหรือสองคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เราพูด

ส่วนที่สามนั้น ก็จะเป็นการถกปัญหากันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้เข้าสอบ หัวข้อนั้นก็จะเกี่ยวๆ กับที่ได้รับในส่วนที่สอง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 นาทีการสัมภาษณ์จะมีการบันทึกไว้ด้วยเทปบันทึกเสียง

หลักฐานการสมัครสอบ

1. ใบสมัคร IELTS สามารถดาว์นโหลดได้ที่นี่ ที่กรอกด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ (Capital Letter)
2. รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป ซึ่งถ่ายภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
3. หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา
4. ค่าสมัครสอบจำนวน 5,900 บาท
ถ้าหากผู้สมัครสอบต้องการเลื่อนวันสอบหรือต้องการยกเลิกจะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 14 วัน

ท่านสามารถลงทะเบียนได้ที่

1. บริติซ เคานซิล สยามสแควร์ โทรศัพท์: 66-2652-5480-9
2. บริติซ เคานซิล ปิ่นเกล้า โทรศัพท์: 66-2884-9944-6 ต่อ 101, 102
3. บริติซ เคานซิล ลาดพร้าว โทรศัพท์: 66-2937-1037-9 ต่อ 0

สถานที่สอบ

สำหรับที่กรุงเทพ IELTS จะดำเนินการจัดสอบที่โรงแรมปทุมวันปรินเซส ชั้นเอ็ม ทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยจะจัดสอบในวันเสาร์ของทุกเดือน ๆ ละ 3 ครั้ง

สิ่งที่ควรเตรียมไปในวันสอบ

ดินสอสองบี ยางลบ ปากกา บัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง ขึ้นอยู่กับว่าระบุ อะไรไว้ในใบสมัคร และใบเสร็จรับเงินว่าได้จ่ายค่าสมัครเรียบร้อยแล้ว

สำหรับผู้ที่สอบที่บริติชเคาน์ซิลนั้น จะต้องเดินทางถึงสถานที่สอบ ไม่เกิน 8.30 น. สอบข้อเขียนจะเสร็จสิ้นไม่เกิน 12.10 น. จากนั้นจะมีการสอบสัมภาษณ์ในช่วงบ่าย ตั้งแต่เวลา 12.30 น.- 17.00 น. โดยผู้เข้าสอบสามารถตรวจสอบเวลาสอบสัมภาษณ์ตัวเอง ได้ในวันศุกร์ก่อนวันสอบตั้งแต่เวลา 15.00 น.

ตารางเวลาในการสอบ

  • 08:30 - 08:45 Attendance check at Customer Services
  • 08:45 - 08:55 Candidates Enter Room 1327, 13th Floor
  • 08:55 - 09:15 IELTS test instructions
  • 09:15 - 09:45 Listening Test
  • 09:45 - 09:55 Transfer Time
  • 10:00 - 11:00 Reading Test
  • 11:00 - 11:10 Break
  • 11:10 - 12:10 Writing Test
  • 12:30 - 17:00 Speaking Test (14 นาที per candidate)

รายงานผลสอบ IELTS

ผู้สอบสามารถขอรับผลการสอบได้ที่แผนกลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งผลการสอบจะออกในวันศุกร์ที่สองตั้งแต่เวลา 13.00 นาฬิกาเป็นต้นไป หรือ 13 วันหลังจากการสอบ โดยสามารถขอรับได้จนถึงวันจันทร์ หรือรอรับผลการสอบทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษซึ่งจะจัดส่งออกไปในวันอังคาร (17 วันหลังจากการสอบ) ผลสอบนั้นสามารถเก็บผลสอบไว้ได้ 2 ปี

ในใบรายงานผล จะระบุคะแนนความสามารถทั้ง 4 ทักษะและคะแนนเฉลี่ย โดยแบ่งคะแนนออกเป็น 9 ระดับจากสูงไปต่ำดังต่อไปนี้

ระดับ 9 (มีความสามารถในการใช้ภาษาดีเลิศ)

หมายถึงผู้สอบสามารถใช้ภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว เหมาะสม ถูกต้องแม่นยำ และมีเข้าใจในภาษาดีเยี่ยม

ระดับ 8 (มีความสามารถในการใช้ภาษาดีมาก)

หมายถึงผู้สอบสามารถใช้ภาษาได้ถูกต้องและคล่องแคล่ว แต่อาจมีข้อผิดพลาดและความไม่เหมาะสมบ้างบางครั้งคราวในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย สามารถถกปัญหาที่ซับซ้อนอย่างมีเหตุผลได้ดี

ระดับ 7 (มีความสามารถในการใช้ภาษาดี)

หมายถึงผู้สอบสามารถใช้ภาษาได้ดีแต่ยังมีความผิดพลาดและเข้าใจผิดในบางโอกาส แต่โดยทั่วไปสามารถใช้ภาษาในลักษณะที่ซับซ้อนได้ดีและเข้าใจในการให้เหตุผลได้ดี

ระดับ 6 (มีความสามารถในระดับใช้งานได้)

หมายถึงผู้สอบมีความสามรถในการใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดและความไม่เหมาะสมในการใช้ภาษาบ้าง แต่ก็สามรถสื่อสารและเข้าใจภาษาที่ซับซ้อนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่คุ้นเคย

ระดับ 5 (สามารถใช้ภาษาในระดับปานกลาง)

หมายถึงผู้สอบมีความสามารถในการใช้ภาษาได้บางส่วนและเข้าใจความหมายกว้างในสถานการณ์ส่วนใหญ่ แต่ยังมีข้อผิดพลาดบ่อยๆแต่ก็สามารถสื่อสารในระดับพื้นฐานในเรื่องที่ตนถนัดได้ดี

ระดับ 4 (มีความสามารถในการสื่อสารจำกัด)

หมายถึงผู้สอบมีความสามารถในการสื่อสารจำกัดเฉพาะเรื่องที่ตนเองคุ้นเคย มีปัญหาในการสื่อสาร การเข้าใจและการแสดงออกทางความคิด และไม่สามารถใช้ภาษาที่ซับซ้อนได้

ระดับ 3 (มีความสามารถในการใช้ภาษาที่จำกัดมาก)

หมายถึงผู้สอบรู้และเข้าใจความหมายกว้างๆในสถานการณ์ที่คุ้นเคยและมีการหยุดชะงักในการสื่อสารบ่อย

ระดับ 2 (ไม่สามารถสื่อสารคำศัพท์ขั้นพื้นฐานได้)

หมายถึงผู้สอบไม่สามารถสื่อสารเป็นเรื่องราวได้ พูดได้เป็นคำๆเฉพาะคำคัพท์สั้นๆที่คุ้นเคยเท่านั้น มีปัญหาในการทำความเข้าใจภาษาพูดและภาษาเขียน

ระดับ 1 (ใช้ภาษาไม่ได้เลย)

หมายถึงผู้สอบไม่สามารถใช้ภาษาได้นอกจากคำศัพท์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ข้อแนะนำในการสอบ

การเตรียมตัวสอบ IELTS สำหรับผู้ที่สนใจจะสอบ IELTS สามารถเตรียมตัวสอบ โดยอาจทำตามข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1. ฝึกฝนด้านเวลา ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการสอบของนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่คือเวลา ดังนั้นจะควรฝึกการอ่าน และเขียน ในเวลาที่จำกัดอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้คุ้นเคยกับเลาที่จำกัดในการสอบ

2. ฝึกฝนความแม่นยำ ความรวดเร็วเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการสอบ IELTS นักศึกษา ควรฝึกฝนการใช้ภาษาที่ถูกต้องด้วย ซึ่งอาจทำได้โดยการฝึกในหนังสือคู่มือภาษาอังกฤษต่างๆ

3.การหาความรู้เพิ่มเติม นักศึกษาควรหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ในปัจจุบันสื่อต่างๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษในประเทศไทย มีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งนิตยสารและเอกสารต่างๆ

4. มีความเชื่อมั่น พยายามอย่าวิตกกังวลกับการสอบมากนัก เพราะมันจะทำให้เราประหม่าและตื่นเต้นกับการสอบ ซึ่งอาจมีผลต่อการทำข้อสอบ ควรจะขจัดความวิตกกังวลทั้งหลาย พยายามทำจิตใจให้สบาย สร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเอง การทดลองสอบก่อนสอบจริง ก็เป็นวิธีหนึ่ง ที่ทำให้นักศึกษาคุ้นเคยกับข้อสอบ ขั้นตอนและบรรยายกาศในการสอบ ผู้สอบควรจะพิจารณาเรื่องวันสอบให้ดี เพราะการสอบแต่ละครั้งจะต้องเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่นี่

 



Education Abroad Co., Ltd.
KU Mini Shop (บริเวณโรงอาหารกลาง 1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ (081) 836-4042 (02) 940-6961 แฟกซ์ (02) 940-6961 E-mail : info@e-abroad.com